วันพุธที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2553

เสียงแตก สมาพันธ์แพทย์ผุด คบส.สู้กรรมการ 3 ฝ่าย วงการหมอปั่นป่วน


จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์

วันที่ 04 สิงหาคม พ.ศ. 2553 เวลา 22:43:26 น.  มติชนออนไลน์

เสียงแตก สมาพันธ์แพทย์ผุด คบส.สู้กรรมการ 3 ฝ่าย วงการหมอปั่นป่วน

"จุรินทร์" ลงนามตั้ง กก.3 ฝ่ายแล้ว ถกนัดแรก 7 ส.ค. ขอเวลา 2 สัปดาห์ได้ข้อยุติ สมาพันธ์แพทย์ฯขอถอนตัว อ้างถูกโจมตี ดึงบุคลากรสาธารณสุขร่วม  ผุด "คบส." สู้ ผู้พิพากษาดึงคู่ความคดี 31 ล้านมาไกล่เกลี่ย แนะเยียวยาตามหลักมนุษยธรรม ชี้คนร่าง กม.คุ้มครองคนไข้เจตนาดี แต่หมอก็พลาดได้

 

 

เพื่อไทยซัดรัฐบาลแก้ไม่ตรงจุด

การประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยสามัญนิติบัญญัตินัดแรก ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม มีนายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงเปิดให้สมาชิกหารือก่อนเข้าสู่วาระ นพ.ประสิทธิ์ ชัยวิรัตนะ ส.ส.ชัยภูมิ พรรคเพื่อไทย หารือกรณีแพทย์แต่งชุดดำคัดค้านร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการบริการสาธารณสุข โดยระบุว่า รัฐบาลแก้ปัญหาไม่ตรงจุด และเรื่องนี้จะเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขรุนแรง เพราะแพทย์คิดว่าโดนรังแก ขอเสนอว่า ควรทำเวิร์กช็อปของทั้งสองฝ่าย แล้วนายกรัฐมนตรีและนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ก็ต้องกล้าฟันธงนำไปปฏิบัติ 

 ด้านนายจุรินทร์ชี้แจงว่า สธ.ได้ดำเนินการไม่ต่างกับที่ นพ.ประสิทธิ์ ส.ส.ชัยภูมิ แนะนำ กรรมการร่วมสองฝ่ายก็มาจากการหารือระหว่างฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายคัดค้าน

จุรินทร์ วอนให้เวลากก.3ฝ่าย

นายจุรินทร์กล่าวถึงกรณีที่ พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา ที่ปรึกษาสมาพันธ์โรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป ประกาศนำสมาพันธ์แพทย์ถอนตัวออกจากการเป็นคณะกรรมการสร้างเสริมสมานฉันท์ใน ระบบบริการสาธารณสุข หรือคณะกรรมการ 3 ฝ่าย เพื่อแก้ปัญหาร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายว่า ขอยืนยันว่ายังมีผู้แทนสมาพันธ์แพทย์ร่วมเป็นกรรมการ 3 ฝ่าย โดยเมื่อวันที่ 3 สิงหาคมที่ผ่านมา ตนได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้งกรรมการ มี นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน เพื่อให้ฝ่ายแพทย์กับภาคประชาชนมาพูดคุยเพื่อหาทางออกและหาข้อสรุปที่เป็น กลาง
 

"คิดว่าที่ประชุม 3 ฝ่ายจะมีส่วนคลี่คลายความเห็นที่ไม่ตรงกันได้ ขอเวลาให้คณะทำงานได้ทำงานก่อน" นายจุรินทร์กล่าว

กก.3ฝ่ายนัดถกวันแรก7ส.ค.

นพ.สุพรรณในฐานะประธานคณะกรรมการเสริมสร้างความสมานฉันท์ฯ กล่าวว่า จะเร่งดำเนินการเพื่อให้ได้ข้อสรุปภายใน 2 สัปดาห์ โดยได้เตรียมเอกสารข้อมูลในร่าง พ.ร.บ. รวมทั้งประเด็นที่เป็นปัญหา เพื่อจัดส่งให้คณะกรรมการศึกษาก่อนอย่างน้อย 2 วัน และจะนัดประชุมนัดแรกวันที่ 7 สิงหาคมนี้ นัดต่อไปคือ วันที่ 9 สิงหาคม และจะนัดหารือไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้ข้อยุติภายในเวลาที่กำหนด จากนั้นจะนำมติร่วมมาทำประชาพิจารณ์ในภูมิภาคต่างๆ ก่อนจะนำเข้าสภา   ส่วนกรณีที่มีกรรมการบางคนถอนตัวออกจากคณะกรรมการร่วม 3 ฝ่าย นพ.สุพรรณกล่าวว่า คนที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการ ถือเป็นผู้ที่ได้รับความไว้วางใจจากฝ่ายวิชาชีพ แต่หากสมาพันธ์จะถอนตัว และรวมกลุ่มใหม่ ขอให้นำประเด็นที่เข้าใจไม่ตรงกันมาพูดคุยกันในเวทีนี้

สมาพันธ์แพทย์ผุด "คบส."สู้
 

พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา ที่ปรึกษาสมาพันธ์ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานเครือข่ายคุ้มครองการบริการสาธารณสุข (คบส.) แถลงว่า เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม ได้มีการหารือเรื่องร่างกฎหมาย และมีมติจัดตั้ง คบส.ขึ้น เพื่อคุ้มครองบริการสาธารณสุข ให้มีคุณภาพ คุ้มครองประโยชน์ของประชาชน และผู้ได้รับผลกระทบจากการบริการ โดยสมาพันธ์แพทย์ฯ สมาพันธ์ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ซึ่งมีแพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพทั้งในและนอกราชการ บุคลากรสาธารณสุข ชมรมเภสัชกรอาสาคุ้มครองประชาชนด้านการรับบริการทางยา ชมรมเทคนิคการแพทย์ชนบท ชมรมนักกายภาพบำบัด กลุ่มหัวหน้าสถานีอนามัยและนักวิชาการสาธารณสุข และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) มีมติเข้าร่วมเครือข่ายคุ้มครองประชาชนฯ

พญ.เชิดชูกล่าวว่า คบส.ไม่เห็นด้วยในการจัดตั้งคณะทำงานร่วม 3 ฝ่าย โดยในการประชุมร่วม 2 ฝ่ายได้ให้บันทึกถึงความเห็นของฝ่ายแพทย์ผู้ให้บริการแล้วว่าไม่เห็นด้วยใน วิธีการตั้งคณะทำงานแบบรวบรัด แต่เห็นด้วยในหลักการ 3 ข้อ และเห็นด้วยกับ นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัด สธ. ที่ต้องการให้เกิดความสมานฉันท์ จึงนำเรื่องดังกล่าวไปทบทวนอีกครั้งในกลุ่มสมาพันธ์ ประกอบกับมีการให้ข่าวใส่ร้าย โดย นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และนพ.วิชัย โชควิวัฒน คณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย ผ่านสื่อต่างๆ ทำให้เครือข่ายมีมติถอนตัวออกจากกรรมการ 3 ฝ่ายที่ สธ.ตั้งขึ้น
 

พจนา อ้างถูกด่าถอนชื่อกก.3ฝ่าย
 

พญ.พจนา กองเงิน ประธานสมาพันธ์ กล่าวว่า ได้ทำตามมติสมาพันธ์แพทย์ฯ ที่ขอให้ถอนตัวออกจากการเป็นคณะกรรมการ 3 ฝ่ายแล้ว โดยจะแจ้งให้กับปลัด สธ.ทราบต่อไป และคงไม่สามารถเข้าประชุมคณะกรรมการนัดแรกในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ เนื่องจากติดภารกิจ สาเหตุที่ต้องถอนตัว เนื่องจาก นพ.วิชัย และ นพ.อำพล แสดงความคิดเห็นโจมตีผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายนี้ตามสื่อวิทยุ โทรทัศน์

" แพทย์ในสังกัด สธ.มีเพียง 12,000 ราย ยังมีแพทย์ที่อยู่ในสังกัดอื่นๆ อีกจำนวนมาก ทั้งกระทรวง ทบวง กรม กทม. โรงเรียนแพทย์ เสียงจากแพทย์ใน สธ.ถือเป็นกลุ่มน้อย สมาพันธ์ต่างๆ จึงประกาศถอนตัว " พญ.เชิดชูกล่าว และว่า ข้อเสนอที่เครือข่ายเสนอเพื่อคุ้มครองผู้รับบริการในระบบสาธารณสุข คือ 1.ขยายความคุ้มครองการรักษาพยาบาลให้ครอบคลุมประชาชนทุกสิทธิทั้งบัตรทอง ประกันสังคม สวัสดิการราชการ 2.เพิ่มเพดานการชดเชยในทุกกรณีให้สูงกว่าเดิมเพื่อความเหมาะสม 3.การจัดตั้งคณะทำงานควรมีครบทุกภาคส่วนเพื่อ รับฟังความคิดเห็นให้รอบคอบ 

 อสม.-แพทย์สมาคม ปัดถอนตัว

นายไพฑูรย์ บุญอารักษ์ ประธานชมรม อสม.แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ไม่ทราบข้อมูลที่เครือข่ายระบุว่ามี อสม.เข้าร่วมด้วย แต่เชื่อว่าไม่มีแน่นอน เพราะหาก อสม.จังหวัดใดจะเข้าร่วมกิจกรรมใด จะต้องแจ้งชมรมทุกครั้ง

พล.ต.ท.นพ.จงเจตน์ อาวเจนพงษ์ นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ยืนยันว่าแพทยสมาคมเห็นด้วยกับแนวทางการเจรจาร่วมกันระหว่างฝ่ายผู้รับ บริการ และฝ่ายผู้ให้บริการ และไม่เห็นด้วยกับการล้มโต๊ะเจรจา แต่หากเห็นว่าสัดส่วนของคณะทำงานที่จะเจรจาร่วมกันไม่เหมาะสมหรือไม่ครอบ คลุม ก็ต้องปรับเปลี่ยน ต้องคุยกันเพื่อให้ได้ทางออกของปัญหานี้

เอ็นจีโอวอนให้ทบทวน

นส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หนึ่งในคณะทำงาน 3 ฝ่าย กล่าวว่า ผิดหวังที่สมาพันธ์แพทย์ฯถอนตัวจากคณะทำงาน เพราะหลายเดือนที่ผ่านมา สังคมไทยต้องเผชิญกับความขัดแย้งที่ต่างฝ่ายต่างไม่ฟังเหตุฟังผลกันจนนำไป สู่วิกฤต ในการประชุมร่วมกันเมื่อวันที่ 2 สิงหาคมที่ผ่านมา ทุกฝ่ายเห็นด้วยในหลักการ 3 ข้อ แต่ความเห็นยังต่างในรายละเอียดของร่าง พ.ร.บ.จึงขอให้สมาพันธ์แพทย์ฯทบทวนการเข้าร่วมคณะทำงานอีกครั้ง หรือขอให้นำความเห็นต่างทั้งหมดไปพิจารณาในสภา หลังจากที่ร่าง พ.ร.บ.ผ่านที่ประชุมวาระแรก

นพ.สุธีร์ รัตนมงคลกุล อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) กล่าวว่า การตั้งคณะกรรมการร่วม 3 ฝ่าย เป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาความเห็นต่างที่มีอยู่ในปัจจุบัน การยอมให้มีการเปิดเวทีเจรจาหารือร่วมกัน ถือว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความใจกว้างมาก จำเป็นที่ฝ่ายที่สนับสนุนและคัดค้านจะต้องใช้โอกาสนี้ให้เกิดประโยชน์มากที่ สุด ด้วยการพิจารณาเป็นรายมาตรา เพื่อหาจุดร่วม

นพ.ไพจิตร์กล่าวถึงกรณีที่แพทย์บางส่วนคัดค้านการเจรจาร่วม 3 ฝ่ายเพื่อหาข้อยุติ ในร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายว่า ตั้งใจทำดีที่สุดแล้ว ยืนยันว่าจะจัดให้มีการประชุมตามที่ได้นัดหมาย

หัวหน้าศาลไกล่เกลี่ยคดี31ล.
วัน เดียวกัน ที่ศาลจังหวัดพระโขนง นายธงชัย ฉัตรเพิ่มพร ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดพระโขนง กล่าวถึงคดีที่ นายธวัชสิทธิ์ ตวงสินกุลบดี และนางธัญญพัฒน์ ตวงสินกุลบดี บิดามารดา นายพีรวีร์ ตวงสินกุลบดี ผู้เสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่ 2009 เป็นโจทก์ฟ้อง บริษัท โรงพยาบาลศิครินทร์ จำเลยที่ 1 บริษัทโรงพยาบาล ไทยนครินทร์ จำเลยที่ 2 และแพทย์เป็นจำเลยที่ 1-5 เรียกค่าเสียหาย 31.2 ล้านบาท ว่า จะมีหนังสือเชิญทั้งสองโรงพยาบาลร่วมไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาท โดยช่วงที่จำเลยรับสำเนาคำฟ้องแล้วต้องจะยื่นคำให้การ ศาลจะนำคู่ความเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยโดยความสมัครใจ ซึ่งทางโรงพยาบาลจะส่งทนายความ หรือตัวแทนมาก็ได้

" วิธีการไกล่เกลี่ยจะเป็นประโยชน์ ทำให้ไม่ต้องมีการตัดสินว่าใครผิดใครถูก เพียงขอให้มีการเยียวยาความเสียหายตามหลักมนุษยธรรมก็ได้ โดยศาลได้เตรียมคณะผู้ประนอมข้อพิพาท ซึ่งเคยผ่านงานเป็นผู้พิพากษาสมทบกับเจ้าหน้าที่สำนักระงับข้อพิพาทมาดูแล เรื่องการไกล่เกลี่ย "  ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดพระโขนงระบุ

 

กม.เจตนาดี-แต่หมอพลาดได้

นายธงชัยกล่าวว่า ที่ผ่านมา การฟ้องโรงพยาบาลและแพทย์เกี่ยวกับการรักษาพยาบาลที่ผิดพลาดทำให้ผู้ป่วย เสียหาย เป็นคดีที่มีความยุ่งยากซับซ้อน เพราะมีเอกสารสำนวนจำนวนมาก ต้องมีพยานทางเทคนิค เจ้าหน้าที่แพทย์ของทั้งโจทก์จำเลยมาหักล้างกัน โดยทั้งสองฝ่ายต้องนำเสนอหลักฐานพยานฝ่ายตนให้ศาลเชื่อ ซึ่งผู้พิพากษาจะตรวจดูและใช้หลักกฎหมายมาปรับกับข้อเท็จจริง บางครั้งอาจจะต้องตั้งแพทย์คนกลางมาเบิกความเพื่อประกอบดุลยพินิจ เพื่อให้เกิดความกระจ่าง จากนั้นผู้พิพากษาจะวินิจฉัยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายอย่างละเอียดด้วยความ ระมัดระวัง

"ผมอยากให้คู่ความมาเจรจากันด้วยอัธยาศัยอันดีมากกว่าจะให้ศาลตัดสิน  ในเขตพระโขนงมีโรงพยาบาลที่มีชื่อเสียงหลายแห่ง แต่ละรายก็มีฐานะทางการเงินสูง จึงมักมีกำลังในการต่อสู้คดี และระวังไม่ให้เสียชื่อเสียงหรือทรัพย์สิน แต่บางครั้งโจทก์เรียกค่าเสียหายจำนวนมาก โรงพยาบาลก็รับไม่ไหว เลยจำต้องสู้คดีกันในศาล" ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดพระโขนงกล่าว

นายธงชัยกล่าวอีกว่า สำหรับร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการทางสาธารณสุข ตนมองว่าผู้ร่างมีเจตนาที่ดีที่จะช่วยเหลือและเป็นประโยชน์แก่ประชาชน และผู้ต้องเสียหายจากการรักษาพยาบาล แต่แพทย์ก็คือปถุชนธรรมดา ย่อมมีความผิดพลาดเกิดขึ้นได้ เนื้อหาของร่างกฎหมายฉบับนี้มีหลักการดีมากๆ จะเกิดการเยียวยาความเสียหายแก่ประชาชนได้ แต่ฝ่ายแพทย์อาจจะเกรงว่าจะได้รับผลกระทบ ดังนั้น ผู้เกี่ยวข้องต้องดูเนื้อหาให้ละเอียดมากขึ้น

แพทยสภาออกตัวคดี 31 ล้านล่าช้า

นพ.สมศักดิ์ โล่เลขา นายกแพทยสภา กล่าวถึงกรณีญาติผู้เสียชีวิตจากหวัดใหญ่ 2009 ฟ้อง 31 ล้านบาท ว่า สิ่งที่แพทยสภาทำได้ คือการพิจารณาว่าการเสียชีวิตมาจากการรักษาของแพทย์หรือไม่ หากมีส่วนเกี่ยวข้องก็จะเข้าข่ายผิดจรรยาแพทย์ แต่ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป โดยอยู่ระหว่างนำข้อมูลการรักษาส่งไปยังแพทย์ผู้เชี่ยวชาญตามราชวิทยาลัย ต่างๆ เมื่อแล้วเสร็จจะต้องนำเรื่องส่งไปยังแพทย์ผู้ถูกกล่าวหา เพื่อเปิดโอกาสให้ชี้แจงก่อนจะส่งให้คณะกรรมการกลั่นกรองจริยธรรมของแพทยสภา และสุดท้ายจึงจะส่งให้คณะกรรมการแพทยสภาพิจารณาว่า เข้าข่ายผิดจรรยาแพทย์หรือไม่ กระบวนการดังกล่าวต้องใช้เวลาราว 1 ปี
 

" ไม่อยากให้ไปเชื่อมโยงการทำงานของแพทยสภาว่าล่าช้า เพราะคนละเรื่องกัน เนื่องจากการฟ้องร้องเป็นคดีผู้บริโภค ส่วนแพทยสภาเป็นการเอาผิดแพทย์ที่ประพฤติผิดจรรยาแพทย์ เป็นคนละส่วนกัน " นพ.สมศักดิ์ กล่าว

ศาลอุดรฯเน้นไกล่เกลี่ยคดี

นายสังคม เมฆอรุณลักษณ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาล จ.อุดรธานี เปิดเผยว่า ศาลจังหวัดอุดรธานียังคงเดินหน้า ให้ความสำคัญกับการไกล่เกลี่ยคดีความ และเราจะทำงานในเชิงรุกมากขึ้น โดยเตรียมขยายการไกล่เกลี่ย "คดีทางการแพทย์" ให้กับโรงพยาบาลภาครัฐก่อน โดยในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มีการไกล่เกลี่ยไป 1 เรื่อง กรณีบุตรสาวเป็นพยาบาล ฟ้องโรงพยาบาล และแพทย์ ที่ดูแลรักษามารดาไม่ดี เป็นเหตุให้เสียชีวิต ศาลก็ช่วยไกล่เกลี่ยให้ ขอให้สองฝ่ายคุยกันก่อน โดยมีเจ้าหน้าที่จากกระทรวงสาธารณสุขมาร่วมด้วย ทุกฝ่ายกลับออกไปอย่างมีความสุข จึงจะแจ้งไปที่โรงพยาบาลว่าศาลพร้อมไกล่เกลี่ยคดีเหล่านี้ด้วย  

 ญาติคนไข้หนุนชี้รพ.รัฐละเลย

นางสุวิมล กมลพล อายุ 39 ปี ราษฎรหมู่ 3 ต.บ้านเกาะ อ.เมือง แสดงความเห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายที่ได้รับผลกระทบจากการรักษาของโรงพยาบาลของรัฐบาล เนื่องจากพี่ชายคือ นายสมยศ ประสาทแก้ว ประสบอุบัติเหตุถูกรถจักรยานยนต์ชนท้ายจักรยานที่ขี่อยู่จนล้มกลางถนน กู้ภัยนำส่งโรงพยาบาลอุตรดิตถ์ แพทย์ผ่าตัดสมองซีกขวาให้ ต้องนอนรักษาในห้องไอซียูเกือบ 1 เดือน และไม่รู้สึกตัว ต่อมาถูกนำตัวไปไว้ที่ตึกศัลยกรรมอุบัติเหตุ ก่อนกลับมารักษาตัวที่บ้าน ทุกวันนี้ต้องจ้างชาวบ้านมาดูแลเดือนละ 9,000 บาท

 

ล่าสุดแพทย์ให้เข้ารักษาแผลกดทับที่โรงพยาบาลอีกครั้ง แต่พยาบาลไม่สนใจ วันแรกไม่ได้ทานข้าว ฟันไม่แปรง
"ขอ สนับสนุนให้มีกฎหมายฉบับนี้ เพื่อสิทธิประโยชน์ของผู้ป่วยและญาติ อย่างน้อยจะทำให้แพทย์พยาบาลสนใจให้การรักษาพยาบาลคนป่วยมากขึ้น ไม่เฉพาะรายของพี่ชายเท่านั้น ไม่ใช่ปล่อยปละละเลย คิดว่าคนไข้อย่างไรก็ไม่หาย ไม่สนใจ" นางสุวิมลกล่าว

                               http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1280927314&grpid=01&catid=

--
http://www.classifiedthai.com/event_view.php

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น